วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ลักษณะและวัตถุประสงค์ของการบัญชี

ในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากภาคเกษตรกรรมได้เริ่มมีการปฏิวัติจนกลายเป็นภาคอุตสาหกรรมในที่สุด ความรู้ด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การค้าและผลิตจากที่เคยตอบสนองแค่ความต้องการในท้องถิ่นหรือในประเทศ ได้ขยายกว้างออกไปเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลก ลักษณะการประกอบธุรกิจจากเดิมที่เป็นเพียงกิจการในครอบครัวได้เปลี่ยนเป็นกิจการที่กระจายหุ้นให้กับประชาชนเพื่อระดมทุนเข้ามาขยายกิจการ ตลอดจนหาเงินทุนจากแหล่งเงินกู้ในสถาบันการเงินมากขึ้น

จากสภาพเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ธุรกิจจะดำเนินอยู่ได้อย่างราบรื่นและมีผลประกอบการดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารมืออาชีพ ที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้วางแผนการดำเนินงาน กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของกิจการ โดยการกำหนดแผนงานดังกล่าวผู้บริหารจำเป็นต้องทราบข้อมูลในการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อใช้วิเคราะห์ จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยนักบัญชีมาเป็นผู้รวบรวมและให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ต่อผู้บริหารเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินงานต่อไปในอนาคต โดยข้อมูลที่นักบัญชีนำเสนอนั้นจะอยู่ในรูปของรายงานทางการเงินหรืองบการเงิน ซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการทางบัญชีการเงินทั้งหมดที่นักบัญชีจัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยงบการเงินจะทำให้ผู้ใช้งบการเงินทราบถึงสถานะทางการเงินของกิจการ ความสามารถในการหากำไร ผลตอบแทนจากการลงทุน ตลอดจนความเสี่ยงในการลงทุนในหลักทรัพย์ของธุรกิจเหล่านั้น

วิชาชีพทางการบัญชี
วิชาชีพทางการบัญชี เป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะผลงานที่เกิดจากการทำงานของนักบัญชีเป็นสิ่งจำเป็นที่บุคคลหลายฝ่ายให้ความสนใจ การบัญชีเป็นงานบริการอย่างหนึ่งที่ให้ข้อมูลเป็นตัวเลขทางการเงินของกิจการ แล้วให้ผู้ใช้นำตัวเลขทางการเงินเหล่านั้นไปวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจต่อไป โดยงานในวิชาชีพของนักบัญชีสามารถแยกตามลักษณะของงานได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. การบัญชีส่วนบุคคล
2. การบัญชีบริการสาธารณะ
3. การบัญชีส่วนราชการ


ผู้ใช้งบการเงินและความต้องการข้อมูล

1. ผู้ลงทุน ต้องการข้อมูลเพื่อช่วยในการพิจารณาในการติดสินใจซื้อ ขาย หรือถือเงินลงทุนต่อไป นอกจากนี้ยังต้องการข้อมูลที่จะช่วยประเมินความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของกิจการด้วย
2. ลูกจ้าง ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงและความสามารถในการทำกำไรของกิจการ เพื่อนำไปประเมินความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทน โบนัส สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงโอกาสในการจ้างงาน
3. ผู้ให้กู้ ต้องการข้อมูลเพื่อช่วยในการพิจารณาการอนุมัติเงินกู้ ความสามารถในการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
ผู้ขายสินค้าและเจ้าหนี้อื่น ต้องการข้อมูลเพื่อช่วยในการพิจารณาการอนุมัติวงเงินเชื่อ ระยะเวลาการให้สินเชื่อ และโอกาสในการได้รับชำระหนี้
4. ลูกค้า ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ เพื่อพิจารณาในการติดต่อค้าขาย การสานสัมพันธ์ทางธุรกิจและการพึ่งพาซึ่งกันและกันของกิจการ
5. รัฐบาลและหน่วยงานราชการ ต้องการข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณรายได้ประชาชาติ และการจัดทำสถิติในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดนโยบายทางภาษี
6. สาธารณชน ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มความสำเร็จและการดำเนินงานของกิจการอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน การรับซื้อผลผลิตหรือสินค้าในท้องถิ่น

การบัญชีการเงินและการบัญชีบริหาร

จะเห็นได้ว่ามีผู้ใช้ข้อมูลทางบัญชีและงบการเงิน ทั้งบุคคลภายในและภายนอกกิจการ ซึ่งถ้าพิจารณาความต้องการใช้ข้อมูลของบุคคลทั้งสองฝ่าย อาจแยกบัญชีได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. บัญชีการเงิน เป็นการจัดทำข้อมูลทางการบัญชีเพื่อเสนอทั้งฝ่ายบริหารของกิจการ และ
บุคคลภายนอก ซึ่งการจัดทำข้อมูลของการบัญชีการเงินจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้ เพื่อให้ข้อมูลทางการบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้แก่บุคคลทุกฝ่าย บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจงบการเงิน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ
2. บัญชีบริหาร เป็นการจัดทำข้อมูลทางการบัญชีเพื่อเสนอต่อบุคคลภายในกิจการ เพื่อใช้ในการ
ตัดสินวางแผนการดำเนินงาน กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินงานต่อไป ดังนั้นการจัดทำข้อมูลทางการบัญชีบริหารจะเป็นไปตามความต้องการของบริหารกิจการ อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น